กฎหมายกับการเปิดเผยข้อมูล Open Data เพื่อประโยชน์สาธารณะ
การผลักดันเพื่อพัฒนาข้อมูลเปิด หรือ Open Data ในประเทศไทย เป็นก้าวสำคัญของการขับเคลื่อนสังคมให้เข้าสู่ยุคของความโปร่งใสและการใช้ข้อมูลเพื่อประโยชน์สาธารณะ อย่างไรก็ตามการเปิดเผยข้อมูล Open Data มีข้อพิจารณาตามหลักสากลและหลักกฎหมายที่สำคัญอยู่หลายประการ โดยเฉพาะเรื่องความสมดุลระหว่างประโยชน์สาธารณะกับการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล ที่ยังมีความสับสนอยู่มาก ทั้งในเชิงข้อกฎหมายและแนวทางปฏิบัติ
ChangeFusion ร่วมกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และภาคีหลายส่วนเช่น Hand SE ได้ร่วมกันจัดเสวนา Open Data Governance and Legality เมื่อวันศุกร์ที่ 13 กันยายน 2562 เพื่อ การเสวนานี้เป็นส่วนหนึ่งของ Roundtable for Technology and Justice Series ภายใต้โครงการ Project j : jX Justice Experiment
ประเด็นสำคัญในการเสวนา มีดังนี้
ภาพรวม Open Data
โดยคุณสุนิตย์ เชรษฐา สถาบัน ChangeFusion
Open data คือข้อมูลเปิดที่เปิดให้ทุกคนเข้าถึงได้ มุ่งเน้นการเข้าถึงและใช้งานเพื่อประโยชน์สาธารณะ และเกี่ยวข้องกับแนวคิด Open government หรือ “รัฐเปิด” ที่รัฐบาลเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ พัฒนาคุณภาพการดำเนินงานของรัฐ และสร้างสรรค์ทางออกต่อปัญหาต่างๆ ด้วยการใช้ข้อมูลเป็นพื้นฐาน เช่นการใช้เทคโนโลยี AI, machine learning เป็นต้น
Open data ทำให้ข้อมูลชุดต่าง เชื่อมโยงกันได้ ทำให้เกิดความเข้าใจ (Insight) ใหม่ๆ เช่น ทำให้เห็นความเสี่ยงของการทุจริตคอร์รัปชันในรูปแบบต่างๆ
ในประเทศไทยเริ่มมีการทดลองสร้างความร่วมมือหลายภาคส่วนเพื่อสร้าง Open data โดยเมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา มีการจัด Datathon นำข้อมูลการชี้มูลความผิด ปปช. และคำตัดสินศาลฎีกาในคดีเกี่ยวกับคอร์รัปชัน มาจัดระบบ และสร้างเครื่องมือในการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อให้เห็นรูปแบบและเกิดความเข้าใจใหม่ๆ กิจกรรมครั้งนั้นทำให้เกิดชุมชนและเครือข่ายของประชาชนที่มาจากภาคส่วนต่างๆ ที่มีความสนใจในการสร้าง Open data ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย
เมื่อเริ่มทำ Open data เกิดคำถามและข้อกังวลเรื่องความเสี่ยงทางกฎหมาย รวมทั้งวิธีปฏิบัติเพื่อให้การเผยแพร่และการใช้ข้อมูล Open data นั้นถูกกฎหมาย ไม่ละเมิดสิทธิ์ ในขณะที่สามารถสร้างประโยชน์แก่สาธารณะได้
ภาพรวมทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ Open Data
นำเสนอโดย ดร.ภูมิ ภูมิรัตน KQ Consulting
กฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับ Open data ได้แก่ พรบ.คอมพิวเตอร์, พรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล, และพรบ.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์
นอกจากนั้นยังมีกฎหมายทั่วไปที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายหมิ่นประมาท, กฎหมายลิขสิทธิ์, พรบ.ข้อมูลข่าวสารภาครัฐ, พรบ.รัฐบาลดิจิตอล (ทำให้รัฐต้องเปิดข้อมูล แต่ไม่มีบทลงโทษหากไม่ปฏิบัติ)
กฎหมายบางฉบับยังใหม่ เพิ่งบังคับใช้ ตีความได้กว้าง หรือยังไม่มีคณะกรรมการตีความการใช้งาน
ข้อกังวลทั่วไปในการตีความกฎหมาย
หลักกฎหมายต้องตัดสินบนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ต้องมีคำพิพากษาอ้างอิง ซึ่งเรื่อง Open data ยังไม่มีจุดอ้างอิง ทำให้ผู้ปฏิบัติไม่กล้า และไม่แน่ใจในการปฏิบัติรวมถึงการตีความกฎหมาย / ดร.ปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
ในตัวกฎหมายเอง บางครั้งมีความกำกวม เช่น พรบ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ หลักการคือให้ใช้ข้อมูลสาธารณะได้ มีการจำกัดความว่าอะไรคือประโยชน์สาธารณะที่จะได้รับการยกเว้นไม่ถูกคุ้มครอง แต่ก็มีข้อยกเว้น ซึ่งถูกตีความไม่เหมือนกัน ทำให้เกิดปัญหา เช่น องค์กรที่มีข้อมูล เข้าใจว่าตัวเองไม่มีหน้าที่ต้องมอบข้อมูลให้เป็นสาธารณะ ทั้งๆ ที่มีหน้าที่ตามกฎหมาย / อ.ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
คำพิพากษาของศาล ถูกยกเว้นว่าไม่อยู่ในการคุ้มครองของ พรบ.ข้อมูลส่วนบุคคล
การเปิดเผยข้อมูลเพื่อประโยชน์สาธารณะ มีหลักการอย่างไร มีข้อจำกัดอะไรบ้าง
มีคำถามว่า องค์กรภาคประชาชน เช่นองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน หรือองค์กรเพื่อการศึกษา ต้องการเปิดเผยข้อมูลเพื่อประโยชน์สาธารณะ พรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลถือว่าการกระทำลักษณะนี้ได้รับการยกเว้นในฐานะเดียวกับการที่รัฐมีหน้าที่เปิดเผยข้อมูลหรือไม่ -> มีความเห็นว่าไม่น่าใช้ได้ เพราะถ้าอนุญาตก็จะเปิดช่องให้ใครอ้างก็ได้ ควรไปอ้างหลักเรื่อง Legitimate interest หรือผลประโยชน์อันชอบธรรม ซึ่งเป็นความสมดุลระหว่างประโยชน์กับการละเมิดสิทธิ์ / อ.ฐิติรัตน์
หัวใจของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล คือการจัดการกับ “ความเสี่ยง” ในการละเมิดสิทธิ์ ไม่ใช่การห้ามใช้ โดยผู้ที่จะเผยแพร่จะต้องจัดการความเสี่ยงด้วยกลไกและเครื่องมือต่างๆ เช่น การปิดชื่อไม่ให้ระบุตัวตน, การที่จะต้องมีความจำเป็นในการเปิดเผย, และต้องบริหารความเสี่ยง จึงจะสามารถใช้หลัก Legitimate interest ได้ / ดร.ปิยะบุตร
การตัดสินว่าอะไรคือ Legitimate interest ยังเปิดกว้างต่อการตีความ ควรมีการขับเคลื่อนในการร่าง Guideline เพื่อเสนอคณะกรรมการพรบ.ข้อมูลส่วนบุคคล เมื่อมีการตั้งกรรมการชุดนี้ใน 6-8 สัปดาห์ข้างหน้า / ดร.ภูมิ
นอกจากหลัก Legitimate interest แล้ว ยังมีหลักว่าการเปิดเผย ทำเพื่ออะไร ซึ่งต้องไม่ขัดกับหลักที่องค์กรที่รับผิดชอบเปิดเผยตั้งแต่แรก / อ.ฐิติรัตน์
ตัวอย่างปัญหาที่เกิดขึ้นจริง เช่น ปปช. เปิดเผยข้อมูลเพียงเวลาหนึ่ง จะเปิดเผยนอกเหนือเวลาที่ ปปช. เปิดเผยได้หรือไม่ -> มีกฎหมาย ปปช. (มาตรา 36) กำหนดว่าเปิดเผยรายละเอียดตัวรายงานไม่ได้ ให้เป็นความลับของราชการ (เพื่อคุ้มครองพยาน) เปิดเผยได้เฉพาะผลวินิจฉัยเท่านั้น ซึ่งก็คือข้อมูลที่เปิดเผยบนเว็บอยู่แล้วนั่นเอง โดยสรุปคือเปิดเผยได้ แต่ช่วงที่ ปปช. นำข้อมูลออกจากเว็บ เพราะรอให้กรรมการ ปปช. มีมติก่อนว่าเปิดเผยได้แค่ไหนเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมาย โดยขณะนี้ตีความเสร็จสิ้นแล้ว มีข้อสรุปว่าเปิดเผยต่อได้ โดยถึงแม้กฎหมายลูกจะกำหนดให้เปิดเผย 180 วัน ก็เป็นแค่แนวทางการทำงาน ปปช. ซึ่งต้องอยู่ภายใต้กฎหมายใหญ่ ที่กำหนดให้เปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนเข้าถึง ส่วนเมื่อได้ข้อมูลไปแล้ว และจะนำไปเปิดเผยต่อ ก็ยังต้องใช้ตามวัตถุประสงค์ และไม่ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล / อ.ฐิติรัตน์
ผู้ทำ Open data ควรเป็นคนอธิบายหลักการว่าเปิดเผยเพื่ออะไร (เช่น ตามเป้าหมายของข้อกฎหมายเดิม) เปิดเผยคำอธิบายนี้ต่อสาธารณะ เพราะปัจจุบันยังไม่มีคำตอบตายตัวว่าทำได้หรือไม่ได้ / ดร.ปิยะบุตร
ถ้าขอข้อมูลราชการที่รัฐมีหน้าที่เปิดเผยแล้วไม่ได้ ให้ไปร้องเรียนคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของทางราชการ
หลักกฎหมายเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล
Lawful Basis ของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ได้แก่: ความยินยอม, การวิจัย, การระงับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพ, สัญญา, ภารกิจสาธารณะ อำนาจรัฐ, ประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมาย (Legitimate interest)
Legitimate interest คือการใช้เท่าที่จำเป็น ให้สมดุลกับความเสี่ยงในการละเมิดสิทธิ์ โดยมีหลัก Expectation, Risk, Safeguard / อ.ฐิติรัตน์ และใช้เมื่อใช้สิทธิ์ข้ออื่นไม่ได้ / ดร.ภูมิ
ให้ระวังข้อ Expectation คือไม่ทำโดยไม่ได้คาดไว้ เช่น ข้อมูลปปช. เราต้องอ้างว่า ปปช. ก็เปิดอยู่แล้ว เป็นที่คาดอยู่แล้วว่าจะเปิด และผู้ใช้ข้อมูลก็มีสิทธิ์ที่จะรู้อยู่แล้ว / ดร.ภูมิ
นอกจากนี้ ในยุโรปยังมีหลัก Right to be forgotten ซึ่งสามารถร้องต่อศาลขอให้สั่งให้เอาออกจากผลการค้นหาออก ไม่ให้เข้าถึงง่ายๆ แต่ไม่ได้ให้ลบออก ในไทยมีกฎหมายใกล้เคียงกัน / ดร.ภูมิ
Case Study เกาหลี
คุณ Wisoot Tantinan ผู้แทน UNDP ประเทศไทย
ตามหลักสากล ความบกพร่องเรื่องธรรมาภิบาลและการทุจริตคอร์รัปชันเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ต้องมี Open data
ในเกาหลี มีโครงการ Seoul Clean Construction System ซึ่งเป็นตัวอย่างของการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ โดยเมืองโซลต้องการเปิดเผยข้อมูลเรื่องการก่อสร้าง เริ่มด้วยการเปิดหมด แล้วเกิดข้อร้องเรียนให้ปิดบางส่วน ต่อสู้จนเกิดข้อตกลงว่าเปิดอะไรแค่ไหน โครงการนี้มีองค์กรประกอบสำคัญคือ Allimi ระบบเปิดเผยข้อมูลก่อสร้าง ค้นหาได้ตามหัวเรื่องต่างๆ เช่น ข้อมูลพื้นฐานของโครงการ แผนที่, การติดต่อผู้รับเหมา, ภาพการก่อสร้าง, รายงานการก่อสร้างรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน, Web camera แบบ Real-time (แต่ถูกระงับเพราะละเมิดสิทธิ์ส่วนบุคคล), ข้อมูลผู้มีส่วนได้เสีย, ปัญหาหรือบทลงโทษที่เคยได้รับ, ประชาชนสามารถถามคำถามได้ โดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ตอบ รวมทั้งสามารถขอเยี่ยมชมสถานที่ได้
ใช้หลักการ Protection of information VS Right to know คือการเปิดเผยข้อมูลให้มากที่สุดเท่าที่กฎหมายจะอนุญาตให้ทำได้
ประโยชน์ข้อที่สำคัญที่สุดของการเปิดเผยข้อมูลในกรณีนี้ คือการสร้างความปลอดภัยให้ประชาชน
สรุปแนวทางขับเคลื่อนต่อไป
ควรยืนยันตามหลักการว่าข้อมูลควรเข้าถึงได้ ใช้ต่อได้ เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบและนวัตกรรม
ควรทำ Guideline แนวทางการเปิดเผยข้อมูล และอธิบายหลักการเปิดเผยข้อมูลให้ชัดเจนว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์อันชอบธรรม (Legitimate Interest)
ควรผลักดันให้หน่วยงานของรัฐเปิดเผยเองในฐานะภารกิจของตนเอง